top of page

HISTORY

1962:

3-year Architecture + 2-year Applied Arts curriculum

 

1976-2009:

5-year curriculum

 

2009-Present:

4-year curriculum

ความเป็นมาของภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม

ภายหลังจากที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้รับการยกฐานะจากแผนกอิสระสถาปัตยกรรมขึ้นเป็นคณะใน พ.ศ. 2482 แล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดหาสถานที่สร้างอาคารเรียนขึ้นในบริเวณมหาวิทยาลัย ถนนพญาไท ซึ่งทำการก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2483 และได้ใช้เป็นสถานที่เรียนชองนิสิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลักสูตรระดับปริญญาตรีตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2486 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2486 กำหนดให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ประกอบด้วย 3 แผนกวิชา คือ แผนกสถาปัตยกรรม แผนกศิลปกรรม และแผนกผังเมือง แต่การเรียนการสอนวิชาต่างๆในแผนกวิชาศิลปกรรมและแผนกวิชาผังเมือง เป็นเพียงวิชาประกอบเท่านั้น ซึ่งนิสิตจะต้องศึกษาเพื่อให้ได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต

ใน พ.ศ. 2492 ที่ประชุมคณบดีได้พิจารณาให้ทูลเชิญหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ ซึ่งได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนวิชาต่างๆของแผนกวิชาสถาปัตยกรรม ตั้งแต่สมัยอาจารย์นารถ โพธิประสาทแล้วนั้น มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาสถาปัตยกรรม และรักษาการหัวหน้าแผนกศิลปกรรมด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2497 ก็ทรงได้รับแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยให้ดำรงตำแหน่งคณบดีสืบต่อจากพระยาประกิตกลศาสตร์ คณะบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ส่วนหัวหน้าแผนกวิชาสถาปัตยกรรมนั้น ศาสตราจารย์เฉลิม รัตนทัศนีย รับทำหน้าที่แทน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2497

ศาสตราจารย์ ม.จ. โวฒยากร วรวรรณ ได้ทรงมีส่วนสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หลายประการ เช่น ทรงติดต่อขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย Texas จัดส่งเครื่องมือทำงานไม้ โลหะ และเครื่องปั้นดินเผามาให้ มูลนิธิ Fulbright ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาแนะนำจัดทำหลักสูตรแผนกศิลปกรรม ซึ่งพอดีกับอาจารย์เลิศ อุรัสยะนันทน์ที่ได้รับทุนของ ก.พ. ไปศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม กลับมาประจำทำงานพร้อมกันกับอาจารย์สมถวิล อุรัสยะนันทน์ แผนกวิชาศิลปกรรมจึงได้เปิดสอนวิชาต่างๆอย่างเต็มที่ใน พ.ศ. 2505 โดยรับนิสิตที่สำเร็จการศึกษาขั้นอนุปริญญาสถาปัตยกรรม หลักสูตร 3 ปี มาศึกษาต่อตามหลักสูตรศิลปกรรมอีก 2 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต (สาขาศิลปกรรม) ปรากฏว่ามีนิสิตเรียนจบตามหลักสูตร 2 ปี เป็นรุ่นแรก ในปีการศึกษา 2506 จำนวน 3 คน

ใน พ.ศ. 2512 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้ติดต่อขอผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ Mr. Jorg Glasenapp ซึ่งมาช่วยงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มาเป็นอาจารย์พิเศษของแผนกวิชาศิลปกรรมอีกท่านหนึ่ง ทำให้การเรียนการสอนของแผนกก้าวหน้าไปด้วยดี Mr. Glasenapp ได้ให้คำแนะนำและเห็นด้วยกับหลักสูตรวิชาศิลปกรรมใหม่ซึ่งจะขยายจาก 2 ปี เป็น 5 ปี ตามแบบที่สอนกันอยู่ในต่างประเทศ แผนกวิชาศิลปกรรมจึงเริ่มดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะกับสภาพการศึกษาและสังคมของประเทศ คำนึงถึงความต้องการบัณฑิตที่จะออกไปประกอบอาชีพตามหน่วยงานราชการและเอกชน ทั้งในกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาค ใน พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์เลิศ อุรัสยะนันทน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกวิชาศิลปกรรม

ใน พ.ศ. 2519 แผนกวิชาศิลปกรรมได้เสนอหลักสูตรออกแบบอุตสาหกรรมบัณฑิต 5 ปี รับนิสิตตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เข้าศึกษาในแผนกวิชาศิลปกรรม โดยใน 2 ปีแรกให้นิสิตศึกษาร่วมกับนิสิตสถาปัตยกรรมก่อน 3 ปีหลังจึงย้ายมาศึกษาวิชาในแผนกศิลปกรรมโดยตรง ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญาออกแบบอุตสาหกรรมบัณฑิต

การพิจารณาหลักสูตรนี้ได้ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะได้รับอนุมัติ ก็เป็นเวลาที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร เจริญภักตร์ ได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาศิลปกรรม ใน พ.ศ. 2522 และเพื่อให้ชื่อของปริญญาหลักสูตรใหม่นี้สอดคล้องกับชื่อของภาควิชาที่เปิดทำการสอน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จึงได้ดำเนินการขอเปลี่ยนชื่อภาควิชาศิลปกรรม มาเป็นภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา สำหรับนิสิตที่เรียนจบหลักสูตรใหม่นี้จะได้รับปริญญาการออกแบบอุตสาหกรรมบัณฑิต (ออ.บ.) ซึ่งจะมีนิสิตเรียนจบหลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2526 เป็นรุ่นแรก โดยเปิดทำการสอน 5 สาขาวิชา คือ

1. สาขาวิชาสิ่งทอ (Textile Design)

2. สาขาวิชาการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design & Decoration)

3. สาขาวิชาเลขะนิเทศ (Graphic Design)

4. สาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา (Ceramics)

5. สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design)

ใน พ.ศ. 2552 หลักสูตรการออกแบบอุตสาหกรรม ได้ปรับปรุงเป็นหลักสูตร 4 ปี จนถึงปัจจุบัน

ที่มา: วารสารวิชาการสถาปัตยกรรม ฉบับพิเศษ I.D. OPEN HOUSE ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ 15 มิถุนายน 2527

"ความเป็นมาของภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม" โดย ผศ. ณพิศร กฤตติกากุล, หน้า 1-4

bottom of page